สภาวะเครียดกลายเป็นสิ่งที่คู่ไปกับมนุษย์ ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้ความเครียดยังเกิดขึ้นได้จากอุณหภูมิรอบๆตัว ที่เปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป การอยู่ในที่ๆแออัด มีมลพิษมาก หรือการทำอะไรจำเจ เป็นต้น แม้แต่ประชากรที่อยู่ในเขตอบอุ่นของโลก ที่มีความแตกต่างในด้านความยาวของกลางวันกลางคืนก็พบว่า ในฤดูหนาวที่มีกลางวันสั้นกลางคืนยาว ประชากรจะมีฮอร์โมนแห่งความเครียดนี้สูงกว่าฤดูอื่น แทบจะเรียกได้ว่า เราถูกห้อมล้อมด้วยความเครียดแบบไม่รู้ตัวก็ว่าได้
แม้ว่าบ่อยครั้งที่เรายังรู้สึกว่าทนได้ แต่เราอาจจะไม่ทราบก็ได้ว่า ร่างกายของเราได้สร้างสารขึ้นมาเมื่อมีความเครียด แล้วทำให้ร่างกายเรามีความรู้สึกหรือมีอาการต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความเครียดด้วยพฤติกรรมต่างๆ เช่น เศร้า หดหู่ เบื่อ กดดัน หรือการแสดงออกที่รุนแรง ฯลฯ
การศึกษาพบว่า ผู้ที่มีความเครียดในด้านต่างๆ เช่น ในทางหน้าที่การงาน ฐานะในสังคม และทางด้านเศรษฐกิจ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนแห่งความเครียดสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ 2-9 เท่า แต่การทำตัวไม่ให้เครียด เช่น มองโลกในแง่บวก การนั่งสมาธิ เข้าวัด คบเพื่อนที่สนุกสนาน ดูภาพยนต์ที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้กระทั่งรายการตลก จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำงานได้ดีขึ้น และสามารถลดอุบัติการณ์เกิดมะเร็ง หรือสามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอายุยืนยาวขึ้นได้
ผลของความเครียดนี้ยังปรากฏในสัตว์หลายชนิด เช่น นก งู หนู สุนัข แมว ฯลฯ ซึ่งพบว่าทำให้ฮอร์โมนแห่งความเครียดนี้เพิ่มสูงขึ้น ในสภาวะที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนไป เป็นต้น
การศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง 10 ชนิดของกลุ่มประชากรในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็พบว่า ความเครียดเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ชัดว่า การมีความเครียดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดเซลล์มะเร็ง และช่วยในการเจริญเติบโต ตลอดจนการแพร่กระจายของเซลล์เหล่านี้
การศึกษาจำนวนมากได้เปิดเผยให้ทราบว่า ความเครียดเป็นเวลานานมีผลด้านลบต่อการทำงาน ในด้านต่างๆของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น การส่งสัญญาณของสิ่งแปลกปลอม การเจริญเติบโตของเม็ดเลือดขาว การสร้างแอนตี้บอดี้ การเดินทางของเม็ดเลือดขาวไปยังเป้าหมาย ประสิทธิภาพการทำงานในด้านต่างๆของเม็ดเลือดขาว และกระบวนการกินสิ่งแปลกปลอมของเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการสร้างฮอร์โมนความเครียดของร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่า ความเครียดยังทำให้เม็ดเลือดขาวมีอายุสั้นลง พบการยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดเอนเคเซลล์อีกด้วย
ความเครียดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ในการยับยั้งการสร้างสมดุล Th1 อย่างชัดเจน การยับยั้งการทำงานของ IL-12 ซึ่งเป็นสารเคมีเริ่มต้นของการสร้างสมดุล Th1 รวมทั้งยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์ Th1 เข้าไปยังที่เกิดมะเร็งและลดประสิทธิภาพการทำงานของสมดุล Th1 ลง รวมทั้งการเพิ่มปริมาณเซลล์ Treg เพื่อทำให้เกิดสมดุล Treg ที่แข็งแรงในบริเวณที่เกิดมะเร็ง ซึ่งสมดุลนี้จะทำหน้าที่ช่วยการเจริญเติบโต และลุกลามของมะเร็ง
การศึกษาในปัจจุบันพบว่า การที่ร่างกายมีฮอร์โมนเครียดในระยะยาว จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสมดุล Treg ซึ่งจะส่งผลเสียให้กับร่างกายดังที่กล่าวมาแล้ว การศึกษาเปรียบเทียบในหนูโดยสร้างสภาวะความเครียดพบว่า ความเครียดสูง ได้แสดงถึงความแตกต่างที่น่าสนใจ เช่น การเพิ่มขึ้นของขนาดก้อนมะเร็ง การเพิ่มขึ้นของเซลล์ Treg การลดลงของเซลล์ Th1 เป็นต้น
การศึกษาในหนูแสดงให้เห็นว่า เบต้ากลูแคนสามารถลดระดับฮอร์โมนความเครียดเหล่านี้ได้ทำให้ร่างกายไม่รู้สึกเครียดหรือเครียดน้อยลง แม้จะอยู่ในสภาวะที่ทำให้เครียด เช่น ในสภาพอากาศหนาว หรือสภาพที่ถูกจับมัด หนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเบต้ากลูแคนจากยีสต์ขนมปัง (กลุ่มน้ำเกลือ) ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนแห่งความเครียดในระดับสูงมาก ในขณะกลุ่มที่ได้รับเบต้ากลูแคนจากยีสต์ขนมปัง (YBG) ปริมาณของฮอร์โมนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับปกติ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ในสภาวะปกติการบริโภค เบต้ากลูแคน ไม่ได้ส่งผลให้ปริมาณฮอร์โมนแห่งความเครียด เปลี่ยนแปลงเลย แต่กลับส่งผลดีต่อร่างกายในสภาวะเครียด โดยส่งผลให้ไม่มีการเพิ่มฮอร์โมนแห่งความเครียดเลย
ดังนั้นเบต้ากลูแคนจึงอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ในการลดความเครียดที่เกิดขึ้นภายในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการลดประสิทธิภาพของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของเรา เราจำต้องรักษาสภาพจิตใจไม่ให้เครียดหรือรับประทานเบต้ากลูแคนอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจจะสายเกินแก้ในอนาคต
บทความโดย : ดร.วิทยา กดุมภะ