ความเครียดเเละมะเร็ง

สภาวะเครียดทางจิตใจกับโรคมะเร็ง

ความเครียดทางจิตใจคืออะไร?

ความเครียดทางจิตใจ หรือ psychological stress คือสิ่งที่ผู้คนรู้สึกเมื่ออยู่ภายใต้แรงกดดันทางจิตใจ ร่างกาย หรืออารมณ์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะประสบกับความเครียดทางจิตใจบ้างเป็นครั้งคราว แต่ผู้ที่มีความเครียดทางจิตใจในระดับสูงหรือประสบความเครียดนี้ซ้ำๆเป็นเวลานานควรระวังเพราะมันอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆได้ทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย

ความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในชีวิตประจำวันและเหตุการณ์ที่เป็นกิจวัตร ตลอดจนเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น บาดแผลหรือความเจ็บป่วยในตัวเองหรือในคนใกล้ชิด และเมื่อคนเรารู้สึกว่าไม่สามารถจัดการหรือควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมะเร็งหรือกิจกรรมในชีวิตปกติได้ คนเรามักจะตกอยู่ในความทุกข์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้

 

ร่างกายของคนเราตอบสนองอย่างไรในสภาวะความเครียด?

ร่างกายตอบสนองต่อแรงกดดันทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์โดยการปล่อยฮอร์โมนความเครียด (เช่น epinephrine และ norepinephrine) ที่เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยทำให้บุคคลมีกำลังและความว่องไวมากขึ้นเพื่อหลีกหนีจากภัยอันตรายที่กำลังคุกคามอยู่

การวิจัยพบว่าผู้ที่มีความเครียดที่รุนแรงและยาวนาน (เช่น ความเครียดเรื้อรัง) อาจมีปัญหาเรื่องทางเดินอาหาร ปัญหาการเจริญพันธุ์ ปัญหาทางเดินปัสสาวะ และอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังมักมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ และมีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ ซึมเศร้า และวิตกกังวลอีกด้วย

 

สภาวะความเครียดทางจิตใจทำให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่?

แม้ว่าความเครียดอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายได้หลายอย่าง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าความเครียดสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ยังแน่ชัด เพราะในขณะที่ผลการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทางจิตวิทยาต่างๆกับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่เพิ่มขึ้น การวิจัยชิ้นอื่นๆยังไม่สามารถบอกบทสรุปนี้ได้

แต่ในการวิจัยที่พบความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดทางจิตใจกับการก่อให้เกิดของเซลล์มะเร็ง การศึกษาพวกนี้จะอธิบายว่า ผู้ที่อยู่ภายใต้ความเครียดอาจมีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การกินมากเกินไป หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

 

ความเครียดทางจิตใจส่งผลอะไรต่อผู้ที่เป็นมะเร็ง?

ผู้ที่เป็นมะเร็งจะมักประสบกับความเครียด เนื่องจากผลกระทบของโรคบนร่างกาย อารมณ์ และการปรับตัวในสังคม ผู้ที่พยายามจัดการกับความเครียดด้วยพฤติกรรมเสี่ยง เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรืออยู่ในที่ประจำเเละขยับน้อย อาจมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงหลังการรักษามะเร็ง

ในทางตรงกันข้าม คนที่สามารถใช้กลยุทธ์การเผชิญปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับความเครียด เช่น เทคนิคการผ่อนคลาย มีความเสี่ยงที่น้อยลงที่จะมีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และมีอาการน้อยลงที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งและการรักษามะเร็ง เเต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่เเน่ชัดว่าการจัดการความเครียดทางจิตใจจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งได้

หลักฐานจากการวิจัยมีการชี้ให้เห็นว่า ความเครียดทางจิตใจอาจส่งผลต่อความสามารถในการเติบโตและการแพร่กระจายของเนื้องอกเเละเซลล์มะเร็งได้

ตัวอย่างเช่น การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อหนูที่มีเนื้องอกมะเร็งถูกกักขังหรือแยกออกจากหนูตัวอื่น – ซึ่งเพิ่มสภาวะความเครียดของหนูได้ – เนื้องอกของพวกมันมักจะเติบโตและแพร่กระจาย ในการทดลองอีกชุดหนึ่ง เนื้องอกที่ถูกปลูกถ่ายลงในชั้นไขมันของเต้านมของหนูทดลอง มีอัตราการแพร่กระจายไปยังปอดและต่อมน้ำเหลืองที่สูงกว่ามากหากหนูมีความเครียดเรื้อรัง (เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับความเครียดเลย)

การศึกษาในหนูทดลองและในเซลล์มะเร็งของมนุษย์ที่เติบโตในห้องแล็บพบว่า ฮอร์โมนความเครียด norepinephrine ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบตอบสนอง fight or flight response ของร่างกาย อาจส่งเสริมการสร้างเส้นเลือดใหม่และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ในการศึกษาอื่น ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเเบบ triple negative (หรือ มะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวตอบรับกับฮอร์โมนหรือยีนส์ HER2) ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด neoadjuvant ถูกถามเกี่ยวกับการใช้ beta blockers ก่อนและระหว่างการทำเคมีบำบัด ซึ่ง beta blockers เป็นยาที่ไปรบกวนฮอร์โมนความเครียดบางชนิด

ผลออกมาคือ ผู้หญิงที่รายงานการใช้ beta blockers มีโอกาสรอดจากการรักษามะเร็งได้ดีกว่าโดยไม่มีการเกิดซ้ำ มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้ beta blocker เเต่อย่างไรก็ตาม ผลไม่ได้รายงานเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มในแง่ของการอยู่รอดโดยรวม

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าความเครียดส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลลัพธ์ของมะเร็ง แต่ข้อมูลบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถพัฒนาความรู้สึกหมดหนทางหรือสิ้นหวังเมื่อความเครียดล้นหลาม ซึ่งการตอบสนองนี้สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่ากลไกของความสัมพันธ์นี้จะไม่ชัดเจนก็ตาม เเต่อาจเป็นไปได้ว่าคนที่รู้สึกหมดหนทางหรือสิ้นหวังไม่แสวงหาการรักษาเมื่อเจ็บป่วย ยอมแพ้ก่อนเวลาอันควร หรือไม่ปฏิบัติตามการรักษาที่อาจเป็นประโยชน์ เเละมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เลยส่งผลให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

คนไข้มะเร็งสามารถรับมือกับความเครียดทางจิตใจได้อย่างไร

การได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์และจากสังคมสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดทางจิตใจได้ การสนับสนุนดังกล่าวสามารถลดระดับของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคของผู้ป่วยได้

ซึ่งแนวทางในการรับมือกับสภาวะเครียดนี้ รวมถึงสิ่งต่อไปนี้:

  • การฝึกผ่อนคลาย การทำสมาธิ เเละการฝึกการจัดการความเครียด
  • ปรึกษาหรือพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ
  • สัมมนาการศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
  • การสนับสนุนทางสังคมโดยการตั้งกลุ่มเพื่อเเชร์ประสบการณ์
  • ยารักษาโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • การออกกำลังกาย

 

บทความเเปลจาก: https://www.cancer.gov/about-cancer/coping/feelings/stress-fact-sheet
รูปภาพโดย Shashi Chaturvedula จาก Unsplash