ในบทความนี้ เราจะพูดถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรังสี UV ตั้งเเต่ว่ามันคืออะไร ความสัมพันธ์ระหว่างรังสี UV กับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง จนถึงปัญหาสุขภาพต่างๆที่มักพบเจอในผู้คนที่มีการสัมผัสกับรังสี UV อยู่บ่อยๆ
รังสี UV คืออะไร?
รังสีอัลตราไวโอเลต (UV: Ultraviolet) เป็นรูปแบบหนึ่งของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่มาจากเเสงดวงอาทิตย์และพบเจอในสิ่งของที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เช่นเตียงอาบเเดดและคบเพลิงเชื่อม
การแผ่รังสีคือการส่งออกพลังงานจากแหล่งใดเเหล่งหนึ่ง ซึ่งรังสีมีหลายประเภท ตั้งแต่รังสีที่มีพลังงานสูงมาก (ความถี่สูง) เช่น เอ็กซเรย์ และรังสี gamma ไปจนถึงรังสีที่มีพลังงานต่ำมาก (ความถี่ต่ำ) เช่น คลื่นวิทยุ ส่วนรังสี UV จะอยู่ตรงกลางสเปกตรัมนี้ รังสี UV นั้นมีพลังงานมากกว่าแสงที่มองเห็นได้ แต่ไม่มากเท่ากับเอ็กซเรย์
นอกจากนี้ รังสี UV ยังมีประเภทต่างๆตามปริมาณพลังงานที่พวกมันมี รังสี UV ที่มีพลังงานสูงจะอยู่ในรูปแบบของรังสีไอออไนซ์ (ionizing radiation) ซึ่งหมายความว่าพวกมันมีพลังงานเพียงพอที่จะเอาอิเล็กตรอนออกจากอะตอมหรือโมเลกุล ดังนั้นรังสีไอออไนซ์สามารถทำลาย DNA ในเซลล์ ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อเกิดโรคมะเร็งได้ แต่ถึงกระนั้น รังสี UV ที่มีพลังงานสูงสุดก็ยังไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะซึมซาบเข้าสู่ร่างกายได้ลึก ดังนั้นผลกระทบหลักจึงอยู่เเค่ที่ผิวหนัง
รังสี UV จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- รังสี UVA มีพลังงานน้อยที่สุดในบรรดารังสี UV รังสีเหล่านี้สามารถทำให้เซลล์ผิวหนังมีอายุมากขึ้น และอาจทำให้เกิดความเสียหายทางอ้อมต่อ DNA ของเซลล์ได้
- รังสี UVA ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับความเสียหายของผิวหนังในระยะยาว เช่น ริ้วรอย แต่ก็มีการวิจัยที่ชี้เเนะว่ารังสี UVA ก็มีบทบาทในมะเร็งผิวหนังบางชนิดด้วย
- รังสี UVB มีพลังงานมากกว่ารังสี UVA เล็กน้อย พวกมันสามารถทำลาย DNA ในเซลล์ผิวหนังได้โดยตรง และเป็นรังสีหลักที่ทำให้เกิดการถูกแดดเผา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่อีกด้วย
- รังสี UVC มีพลังงานมากกว่ารังสี UV ชนิดอื่นๆ โชคดีที่ด้วยเหตุนี้ พวกมันทำปฏิกิริยากับโอโซนสูงในบรรยากาศของเราและไม่ถึงพื้น ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง แต่รังสี UVC อาจมาจากแหล่งกำเนิดที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น หัวเชื่อมอาร์ค หลอดไฟไอปรอท และหลอด UV ฆ่าเชื้อที่มักถูกใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นๆ (เช่น ในน้ำ อากาศ อาหาร หรือบนพื้นผิว)
เราได้รับรังสี UV จากอะไร?
1 แสงแดด
แสงแดดเป็นแหล่งหลักที่ให้รังสี UV เเก่คน ซึ่งรังสี UV ประเภทต่างๆเข้าสู่พื้นดินในปริมาณที่ต่างกัน ประมาณ 95% ของรังสี UV จากดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นเป็นรังสี UVA ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นรังสี UVB
นอกจากนี้ ความแรงของรังสี UV ที่มากระทบถึงพื้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น:
- ช่วงเวลาของวัน: รังสี UV จะแรงที่สุดระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 16.00 น.
- ฤดูกาลแห่งปี: รังสี UV จะแรงขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เเต่ปัจจัยนี้ไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร
- ระยะห่างจากเส้นศูนย์สูตร (ละติจูด): รังสี UV จะลดลงเมื่อคุณอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากขึ้น
- ระดับความสูง: รังสี UV มาถึงพื้นดินมากขึ้น ในระดับความสูงที่สูงขึ้น
- เมฆ: ผลกระทบของเมฆอาจแตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือรังสี UV สามารถทะลุผ่านเมฆมาสู่พื้นดินได้ แม้ในวันที่มีเมฆมากก็ตาม
- การสะท้อนออกจากพื้นผิว: รังสี UV สามารถสะท้อนกับพื้นผิวต่างๆ เช่น น้ำ ทราย หิมะ ทางเท้า เเละหญ้า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ส่งผลให้ได้รับรังสี UV ที่เพิ่มขึ้น
- องค์ประกอบในอากาศ: เช่น โอโซนในกาศชั้นบนสามารถกรองรังสี UV บางส่วน
ดังนั้น ปริมาณรังสี UV ที่แต่ละคนได้รับขึ้นอยู่กับความแรงของรังสี ระยะเวลาที่ผิวหนังถูกเปิดเผย และผิวหนังได้รับการปกป้องด้วยเสื้อผ้าหรือครีมกันแดดหรือไม่
2 วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น
เราสามารถได้รับการสัมผัสกับรังสี UV จากวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น:
- Sunlamps and sunbeds (เตียงเเละเครื่องอาบเเดด): ปริมาณและประเภทของรังสี UV ที่บุคคลได้รับจากเตียงอาบแดด (หรือบูธอาบเเดด) ขึ้นอยู่กับโคมไฟเฉพาะที่ใช้บนเตียง เวลาที่คนอยู่บนเตียงนานแค่ไหน และความถี่ในการใช้เตียงอาบเเดด ซึ่งทุกวันนี้ เตียงอาบแดด UV ที่ทันสมัยส่วนใหญ่จะปล่อยรังสี UVA ออกเป็นส่วนใหญ่ เเละส่วนที่เหลือเป็น UVB
- Phototherapy (UV บำบัด): ปัญหาผิวบางอย่าง (เช่น โรคสะเก็ดเงิน) รักษาได้ด้วยแสง UV
- อีกตัวอย่างหนึ่งคือการรักษาที่มีชื่อเรียกว่า PUVA การรักษานี้จะใช้ยาที่เรียกว่า psoralen ก่อน ซึ่งยาตัวนี้จะสะสมในผิวหนังและทำให้ผิวไวต่อแสง UV มากขึ้น จากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยรังสี UVA หรืออีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาคือการใช้ UVB เพียงอย่างเดียว (โดยไม่ใช้ยา psoralen)
- Black-light lamps (หลอดไฟแบล็กไลท์): หลอดไฟเหล่านี้ใช้หลอดไฟที่ให้รังสี UV (ส่วนใหญ่เป็น UVA) หลอดไฟยังให้แสงที่มองเห็นได้ แต่มีตัวกรองที่ป้องกันแสงส่วนใหญ่ เเต่ปล่อยให้รังสี UV ผ่าน หลอดไฟเหล่านี้มีแสงสีม่วงและมักถูกใช้ในการดูวัสดุเรืองแสง เเละเพื่อเป็นกับดักแมลง
- Mercury-vapor lamps (โคมไฟไอปรอท): โคมไฟไอปรอทสามารถใช้เพื่อให้แสงสว่างแก่พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ เช่น ถนนหรือโรงยิม ถ้าหากหลอดไฟไอปรอททำงานปกติ มันจะไม่ฉายรังสี UV เเก่คนเลย เพราะโคมไฟไอปรอทจะประกอบด้วยหลอดไฟ 2 ดวง ได้แก่ หลอดไฟด้านในที่ปล่อยแสงและรังสี UV เเละหลอดไฟด้านนอกที่กรองรังสี UV ออก ดังนั้นรังสี UV สามารถทะลุออกมาได้ก็ต่อเมื่อหลอดไฟด้านนอกขาด
- High-pressure xenon and xenon-mercury arc lamps, plasma torches, and welding arcs (ไฟซีนอนแรงดันสูงและซีนอน-ปรอทอาร์ค ไฟฉายพลาสม่า และอาร์คสำหรับการเชื่อม): ไฟซีนอนและซีนอน-ปรอทอาร์คเป็นแหล่งของแสงและรังสี UV มักถูกใช้สำหรับหลายๆ อย่าง เช่น การฆ่าเชื้อ เพื่อจำลองแสงแดด (เพื่อทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น) และแม้แต่ในไฟหน้ารถบางรุ่น
รังสี UV ทำให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่?
มะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสัมผัสกับรังสี UV ในแสงแดด เช่น basal cell cancer เเละ squamous cell cancer (มะเร็งผิวหนังชนิดที่พบบ่อยที่สุด) มักพบได้ในส่วนต่างๆของร่างกายที่โดนแสงแดดอยู่ประจำ ความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่ร้ายแรงกว่าแต่พบได้น้อยกว่า ก็เกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับแสงแดดด้วย
นอกจากเเสงเเดดเเล้ว มะเร็งผิวหนังก็ยังมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสรังสี UV บางชนิดในวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น
การวิจัยแสดงให้เห็นอะไร?
จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่ามะเร็งผิวหนังในเซลล์ต้นกำเนิด (basal cell) และเซลล์สความัส (squamous cell) มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของการอยู่กลางแดด เเละปัจจัยอื่นๆรวมถึง:
- การใช้เวลาอยู่กลางแดดเพื่อพักผ่อน (รวมถึงการไปชายหาด)
- การใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กลางแดดในชุดว่ายน้ำ
- การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงมาก
- เคยมีการถูกแดดเผาอย่างรุนแรงในอดีต (เนื่องจากการถูกแดดเผามากขึ้นมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น)
- มีสัญญาณของผิวที่ถูกทำลายจากแสงแดด เช่น รอยด่างบนผิวหนัง, actinic keratoses (ผิวหนังหยาบที่อาจบ่งถึงการเป็นมะเร็งเริ่มต้น) และ solar elastosis ที่คอ (ผิวหนา แห้ง มีรอยย่นที่เกิดจากแสงแดด)
การศึกษายังพบความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมบางอย่างในแสงแดดกับเนื้องอกของผิวหนัง ได้แก่:
- กิจกรรมที่นำไปสู่การอยู่ในแสงแดดที่จัด เช่น อาบแดด เล่นกีฬาทางน้ำ และพักผ่อนในที่ที่มีแดด
- การถูกแดดเผาก่อนหน้านี้
- สัญญาณของการทำลายผิวจากแสงแดด เช่น รอยด่างบนผิวหนัง, actinic keratoses และ solar elastosis
เนื่องจากรังสี UV ไม่แทรกซึมลึกเข้าไปในร่างกาย จึงไม่คาดว่าจะทำให้เกิดมะเร็งในอวัยวะภายใน และงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่พบความเชื่อมโยงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การศึกษาบางชิ้นได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างรังสี UV กับมะเร็งชนิดอื่นๆ รวมทั้งมะเร็งเซลล์ Merkel (มะเร็งผิวหนังชนิดที่พบไม่บ่อย) และมะเร็งผิวหนังของดวงตา
นอกจากนี้ การศึกษาก็ได้ค้นพบว่าผู้ที่ใช้เตียงอาบแดด (หรือบูธอาบเเดด) มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นที่จะเป็นมะเร็งผิวหนัง ทั้ง melanoma เเละ squamous cell กับ basal cell skin cancers ซึ่งความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังชนิด melanoma จะสูงขึ้นหากบุคคลนั้นเริ่มใช้บูธหรือเตียงอาบเเดดเพื่อทำให้ผิวแทนก่อนอายุ 30 หรือ 35 ปี และความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังจากเซลล์ basal และเซลล์ squamous จะสูงขึ้นหากเริ่มใช้บูธหรือเตียงอาบเเดดก่อนอายุ 25 ปี
หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นอย่างไร?
The International Agency for Research on Cancer (IARC, หน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง) มีหนึ่งเป้าหมายหลักคือการระบุสาเหตุของมะเร็ง ซึ่งทางองค์กรได้ตัดสินดังต่อไปนี้:
- รังสีดวงอาทิตย์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
- การใช้อุปกรณ์ฟอกผิวหนังด้วยรังสี UV ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
- รังสี UV (รวมถึง UVA, UVB และ UVC) เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
นอกจากนี้ The National Toxicology Program (NTP, โครงการพิษวิทยาแห่งชาติ) ที่ถูกก่อตั้งจากส่วนต่างๆของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯหลายแห่ง ได้กำหนดไว้ดังนี้เกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง:
- รังสีแสงอาทิตย์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
- การสัมผัสกับแสงแดดหรือเตียงอาบแดดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
- รังสี UV ในวงกว้างเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
- รังสี UVA คาดว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
- รังสี UVB คาดว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
- รังสี UVC คาดว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรังสี UV หรือไม่?
นอกจากมะเร็งผิวหนังแล้ว การได้รับรังสี UV ยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆอีกด้วย รวมถึง:
- รังสี UV ไม่ว่าจะมาจากแสงแดดหรือจากแหล่งเทียม (เช่น เตียงสำหรับอาบแดด) อาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดดได้
- การสัมผัสกับรังสี UV อาจทำให้ผิวแก่ก่อนวัย เช่น ริ้วรอย ผิวหนังเป็นหนัง รอยด่างบนผิวหนัง, actinic keratoses และ solar elastosis
- รังสี UV ยังสามารถทำให้เกิดปัญหาสายตาได้ อาจทำให้กระจกตาอักเสบหรือไหม้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสู่การก่อตัวของต้อกระจก (การขุ่นของเลนส์ตา) และต้อเนื้อ (การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อบนพื้นผิวของดวงตา) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้การมองเห็นบกพร่องได้
- การสัมผัสกับรังสี UV ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้ร่างกายมีเวลาในการป้องกันการติดเชื้อได้ยากขึ้น สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น สามารถทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง
บางคนอาจมีความไวต่อรังสี UV มากกว่าคนอื่น เนื่องจากมีการกินยาบางชนิดที่สามารถทำให้คุณรู้สึกไวต่อรังสี UV มากขึ้น ทำให้คุณมีโอกาสถูกแดดเผามากขึ้น เเละรังสี UV ยังสามารถทำให้ภาวะทางการแพทย์บางอย่างแย่ลงอีกด้วย
รังสี UV เเละวิตามิน D
วิตามินดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย รวมถึงการช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดได้ ซึ่งผิวของคุณสามารถสร้างวิตามินดีด้วยตัวเองเมื่อถูกสัมผัสกับรังสี UV จากแสงแดด เเต่ปริมาณวิตามินดีที่คุณสามารถสร้างได้เองนั้นขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น คุณอายุเท่าไหร่ ผิวคล้ำแค่ไหน และแสงแดดแรงแค่ไหนในที่ที่คุณอยู่
อย่างไรก็ตาม ทางเราเเนะนำให้คุณรับวิตามินดีจากอาหารหรืออาหารเสริมมากกว่าจากการสัมผัสกับรังสี UV เพราะแหล่งอาหารและอาหารเสริมวิตามินจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง และมักจะเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือมากกว่าในการได้รับปริมาณที่คุณต้องการ
วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกันรังสี UV
รังสี UV ในเเสงเเดด
มันเป็นไปไม่ได้เเละไม่ดีต่อสุขภาพที่จะหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยสิ้นเชิง แต่วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดที่มากเกินไป:
- หากคุณกำลังจะออกไปข้างนอก พยายามอยู่ในที่ร่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเที่ยงวัน เป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการจำกัดแสง UV จากแสงแดด
- ปกป้องผิวของคุณด้วยเสื้อผ้าที่คลุมแขนและขาของคุณ
- สวมหมวกเพื่อป้องกันศีรษะ ใบหน้า และคอของคุณ
- สวมแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสี UV จากการทำลายดวงตาและผิวหนังรอบดวงตาคุณ
- ใช้ครีมกันแดดเพื่อช่วยปกป้องผิวที่ไม่ได้สวมเสื้อผ้า
เเหล่งรังสี UV เทียมจากวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น
หลายคนเชื่อว่ารังสี UV จากเตียงอาบแดดไม่มีอันตราย ซึ่งไม่เป็นความจริง สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคืออย่าใช้เตียงอาบแดด (หรือบูธอาบเเดด)
ส่วนคนที่ทำงานในที่ที่อาจต้องสัมผัสกับแหล่งกำเนิดรังสี UV เทียม ควรปฏิบัติตามข้อควรระวังด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม รวมถึงการใช้ชุดป้องกันและแผ่นป้องกันรังสี UV และตัวกรอง